การดูแลผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
หลังผ่าตัดเปลี่ยนช่องทางขับถ่ายปัสสาวะ
การผ่าตัดเปลี่ยนช่องทางขับถ่ายปัสสาวะเป็นวิธีการรักษาทางศัลยกรรมอย่างหนึ่งในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งหลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจต้องมีสโตมาที่หน้าท้องไปตลอดชีวิต อาจทําให้เกิดความเครียดและวิตกกังวลเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของตนเอง อาจมีผลทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านกิจวัตรประจําวัน การใช้ชีวิตในสังคม และอาจกระทบถึงบทบาทและสัมพันธภาพในครอบครัว แต่ถ้าผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องกระเพาะปัสสาวะเทียมและการดูแลตนเอง อีกทั้งหากได้รับแรงสนับสนุนจากบุคคลใกล้ชิดในทางบวก จะสามารถสร้างกําลังใจที่ดีให้แก่ผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะสามารถดํารงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขเหมือนคนปกติทั่วไป
การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนช่องทางขับถ่ายปัสสาวะ
1. การสังเกตสีและลักษณะของน้ำปัสสาวะปกติปัสสาวะจะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆในระยะแรกหลังผ่าตัดน้ำปัสสาวะที่ขับออกมาอาจมีเมือกปนลักษณะสีขาวขุ่นไม่มีกลิ่นเป็นเมือกที่ขับจากลําไส้ที่นํามาเป็นกระเพาะปัสสาวะใหม่ถือว่าปกติ
2. การรับประทานอาหารและน้ำ ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ทุกประเภท ยกเว้นบางโรคที่ต้องควบคุมการรับประทานอาหาร เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน โรคตับ โรคไต ความดันโลหิตสูง หลังผ่าตัดผู้ป่วยควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อขับเมือกที่จะมากับน้ำปัสสาวะ และ”รับประทานอาหารที่ส่งเสริมให้ปัสสาวะเป็นกรด เช่น น้ำกระเจี๊ยบแดง ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดผลึกเกาะบริเวณสโตมา ในกรณีผู้ป่วยผ่าตัดเอาลําไส้เล็กส่วนปลายมาทําาเป็นกระเพาะปัสสาวะใหม่ ควรส่งเสริมให้รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 เพิ่มขึ้นแต่หากเป็นลําไส้ใหญ่ส่วนต้นควรรับประทานอาหารที่มีโซเดียมและโปแตสเซียมสูง
3. การดูแลผู้ป่วยผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะใหม่โดยวิธี neobladder ระยะแรกหลังผ่าตัดผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะต้องใช้สายสวนปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะเป็นครั้งๆ อาจเป็นเวลานานถึง 6 เดือนจนกว่ากระเพาะปัสสาวะใหม่จะสามารถทํางานได้เหมือนปกติ โดยผู้ป่วยต้องฝึกขับถ่ายปัสสาวะ ฝึกการคลายกล้ามเนื้อหูรูด (sphincter)และเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องช่วย ให้ถ่ายปัสสาวะในท่านั่งเพื่อให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานคลายตัว และเป็นการส่งเสริมการขับถ่าย รวมทั้งควรขับถ่ายปัสสาวะอย่างน้อยทุก 2-4 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้กระเพาะปัสสาวะเต็มมากจนเกินไป และควรมีการตรวจเพื่อประเมินการรั่วของกระเพาะปัสสาวะใหม่โดยวิธี pouchogram หลังการผ่าตัด 3-4 สัปดาห์
4. การดูแลผู้ป่วยที่มีสโตมาเปิดทางหน้าท้องประเมินตําแหน่งและลักษณะของสโตมา ซึ่งในระยะแรกหลังผ่าตัดอาจบวมได้แต่จะค่อยๆ ยุบและมีขนาดเล็กลง ประมาณ 7-10 วันหลังผ่าตัดแผลที่บริเวณสโตมาก็จะแห้งสนิท สโตมาจะมีสีแดง มีความชุ่มชื้น ผิวเป็นมัน เรียบนุ่ม ยื่นออกมาจากผนังหน้าท้องประมาณ 1.5 เซนติเมตรหรืออาจชิดติดกับผนังหน้าท้องหากผู้ป่วยอยู่ในท่ายืนเป็นกล้ามเนื้อเรียบที่ไม่มีเส้นประสาทสัมผัสรับความรู้สึกเจ็บปวด หากสโตมามีลักษณะสีดําคล้ำ หรือซีดขาว โผล่ยื่นออกมาจากผนังหน้าท้องมากเกินไป หรือผลุบลงอยู่ต่ำกว่าระดับผิวหนัง ควรมาพบแพทย์
5. การดูแลผิวหนังรอบๆ สโตมา ผิวหนังรอบสโตมาอาจระคายเคืองจากการสัมผัสน้ำปัสสาวะที่มีฤทธิ์เป็นด่าง ซึ่งเกิดจากการที่ยูเรีย (urea) เปลี่ยนเป็นแอมโมเนีย (ammonia) โดยแบคทีเรียในน้ำปัสสาวะหรือผิวหนังหลุดลอก ที่เกิดจากการลอกแป้น หรือถุงรองรับน้ำปัสสาวะที่ติดกับผิวหนังออกอย่างไม่ถูกวิธี ดังนั้นการดูแลผิวหนังต้องทําทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแป้นหรือถุงรองรับน้ำปัสสาวะ ดังนี้
- เลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมในการรองรับน้ำปัสสาวะที่ออกจากสโตมา เช่น แป้น กาว ถุงหรือเป็นถุงที่มีแถบกาวให้พร้อม แป้นที่จะติดครอบสโตมาตัดให้มีขนาดใหญ่กว่าสโตมาเล็กน้อยประมาณ 3.2 มิลลิเมตร หรือ ⅛นิ้ว
- ลอกถุงรองรับปัสสาวะเดิมออกทิ้งด้วยความนุ่มนวล เช็ดคราบกาวและทําความสะอาดผิวหนังส่วนนั้นด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำสบู่อ่อนๆ ( อาจทําในขณะอาบน้ำ เนื่องจากไม่มีข้อจํากัดในการอาบน้ำ ) เช็ดสโตมาและผิวหนังรอบๆให้แห้งถ้ามีน้ำปัสสาวะไหลออกมาให้ใช้สําลีหรือผ้าก๊อซอุดไว้ก่อน
- ทาผิวหนังรอบๆ สโตมาบริเวณที่แป้นจะติดครอบ ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปกป้องผิวหนัง เช่น stomahesive paste หรือ powder เพื่อลดการระคายเคืองจากการสัมผัสกับน้ำปัสสาวะ
- เมื่อพร้อมที่จะครอบถุงหรือแป้นเอาสําลีที่อุดสโตมาออกลอกกระดาษที่ปิดกาวออกครอบปากถุงและกดปากถุงให้แนบติดผิวหนังไม่มีรูรั่วจัดให้ถุงอยู่ในลักษณะที่ก้นถุงห้อยลงมาด้านล่างอาจต่อสายจากถุงลงถุงระบายน้ำปัสสาวะอีกครั้ง
- ล้างถุงรองรับน้ำปัสสาวะเดิมเพื่อเตรียมไว้ใช้ในครั้งต่อไปด้วยน้ำสบู่อุ่นๆแล้วแช่ในน้ำส้มสายชูกลั่นจากนั้นล้างให้สะอาดอีกครั้งด้วยน้ำอุ่นและนําไปผึ่งตากให้แห้ง
6. การดูแลด้านจิตใจ ในระยะแรกหลังผ่าตัดเปลี่ยนช่องทางขับปัสสาวะ ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะบางรายอาจยอมรับกับภาพลักษณ์ที่มีสโตมา หรือทวารเทียมทางหน้าท้องไม่ได้ ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึกหรือความคับข้องใจ รับฟังปัญหาและความคับข้องใจของผู้ป่วยแนะนําให้ผู้ป่วยได้พบปะพูดคุยกับผู้ป่วยคนอื่นที่มีสโตมาเหมือนกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้พูดคุยระบายความรู้สึกของตัวเองกับเพื่อนครอบครัวและบุคคลรอบข้าง
7. การทํากิจกรรมและการออกกําลังกาย ผู้ป่วยสามารถทําได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกําาลังกายหรือกีฬาที่หักโหมรุนแรง และไม่ควรยกของหนักเพราะอาจเป็นสาเหตุของการเกิดไส้เลื่อน
8. การทํางาน หลังผ่าตัดประมาณ 1-2 เดือนผู้ป่วยสามารถกลับไปทํางานได้ตามปกติแต่ควรเตรียมกระเป๋าอุปกรณ์ที่จําเป็นสําหรับการเปลี่ยนถุงรองรับน้ำปัสสาวะเมื่อฉุกเฉิน
9. การเดินทางไกลการมีสโตมาที่หน้าท้องไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางไกลแต่ที่สําคัญผู้ป่วยจะต้องมีการเตรียมอุปกรณ์ต่างๆที่ต้องใช้ให้พร้อมและเพียงพอ
10. การสวมใส่เสื้อผ้าผู้ป่วยสามารถสวมเสื้อผ้าได้ตามปกติแต่ควรหลีกเลี่ยงการกดทับบริเวณสโตมาเนื่องจากอาจทําให้สโตมาได้รับบาดเจ็บและอาจเกิดการรั่วซึมของอุปกรณ์รองรับน้ำปัสสาวะได้
11. การมีเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะบางรายอาจจะวิตกกังวลในเรื่องเพศสัมพันธ์ภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนช่องทางขับถ่ายปัสสาวะการมีสโตมาไม่ส่งผลต่อการมีเพศสัมพันธ์หรือความต้องการทางเพศแต่อย่างใดขึ้นอยู่กับการแสดงออกและความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้ป่วยและคู่สมรสโดยก่อนมีเพศสัมพันธ์ผู้ป่วยควรทําความสะอาดสโตมาและเปลี่ยนถุงรองรับปัสสาวะใหม่
12. การสังเกตอาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์ได้แก่
- ผิวหนังรอบสโตมาอักเสบ หรือเกิดแผลเปื่อยจากปัสสาวะที่มาสัมผัสบริเวณผิวหนัง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการปิดถุงรองรับปัสสาวะไม่พอดี หรือตําแหน่งสโตมาไม่เหมาะสม ทําให้เกิดมีรอยรั่วซึมของปัสสาวะ หรือการใช้สบู่ที่มีฤทธิ์แรงทําความสะอาด รวมทั้งการแพ้กาวจากถุงรองรับปัสสาวะ
- สโตมาตีบแคบ บวม หรือมีสีดําคล้ำ– มีไส้เลื่อนหรือลําไส้ยื่นออกมามากผิดปกติ
- มีเลือดออกมากบริเวณสโตมา แต่หากมีเลือดออกเล็กน้อยอาจเกิดจากการทําความสะอาดที่บ่อยหรือแรงเกินไป
- ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ สีผิดปกติหรือขุ่น มีไข้ ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงภาวะติดเชื้อ
สอบถามและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เบอร์ติดต่อ 0638166058