กินยาเยอะเกินไปอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งตับได้
ตับ เป็นอวัยวะที่มีบทบาทสำคัญในการเก็บสะสมอาหาร เปลี่ยนแปลงอาหาร และยาต่าง ๆ ให้เป็นสารที่ร่างกายนำไปใช้ได้ นอกจากนี้ตับยังทำหน้าที่กำจัดสารพิษออกจากร่างกาย และเปลี่ยนยาบางชนิดให้เกิดผลทางยาได้ดียิ่งขึ้น
แต่เมื่อมีการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ตับอาจเกิดการอักเสบและทำงานผิดปกติ ซึ่งถ้าหากตับเกิดการอักเสบเรื้อรังโดยไม่ได้รับการรักษาหรือการดูแลอย่างถูกต้อง อาจนำไปสู่มะเร็งตับได้ในระยะยาว
การใช้ยาที่อาจส่งผลเสียต่อตับ
- การใช้ยาพร่ำเพรื่อ: ผู้ป่วยบางรายมักทานยาโดยไม่มีความจำเป็น หรือทานยาดักไว้ก่อนเพื่อป้องกันอาการ เช่น ยาลดไข้ แม้ยังไม่มีไข้จริง ๆ ซึ่งเป็นการทำให้ตับต้องทำงานหนักเกินไป
- การใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาด: ผู้ที่ทานพาราเซตามอลเกินขนาดโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น การทานยาที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอลร่วมกับยาอื่นที่มีพาราเซตามอล ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะตับอักเสบได้
- การใช้พาราเซตามอลร่วมกับแอลกอฮอล์: การดื่มแอลกอฮอล์แล้วทานพาราเซตามอลเพื่อลดอาการปวดหัว เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่เสี่ยงให้เกิดการอักเสบของตับได้ง่ายขึ้น
- การใช้ยาสมุนไพรโดยไม่ระมัดระวัง: ยาสมุนไพรบางชนิด เช่น ยาทะลายโจร บอระเพ็ด ขี้เหล็ก หากรับประทานไม่ถูกวิธีก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคตับอักเสบได้
- การใช้ยาแก้แพ้ ยาแก้หวัด และยาปฏิชีวนะต่อเนื่อง: การทานยากลุ่มนี้นานเกินไป โดยไม่ปรึกษาแพทย์ อาจส่งผลต่อการทำงานของตับและก่อให้เกิดปัญหาตับได้

วิธีป้องกันตับอักเสบจากการใช้ยา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น
- ไม่ทานยาต่อเนื่องโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
- ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
ภาวะตับอักเสบเรื้อรังอาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งตับ
การอักเสบของตับที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจกลายเป็นตับแข็งและพัฒนาไปสู่มะเร็งตับได้ในที่สุด ดังนั้น การใช้ยาอย่างมีสติและระมัดระวัง รวมถึงการดูแลสุขภาพของตับจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง